ภาวะที่กระดูกสันหลังโค้งงอไปทางด้านใดด้านหนึ่ง และอาจมีหรือไม่มีการบิดหมุนของกระดูกสันหลังร่วมด้วย ทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งทำงานไม่สมดุลกัน ส่งผลให้เกิดอาการปวด ส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ข้อสังเกต

1. สังเกตความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก และระดับแนวกระดูกสะโพกของร่างกาย มักจะมีระดับสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ทดสอบโดยยืนให้ความกว้างของเท้าเท่ากับช่วงไหล่และก้มไปด้านหน้าพร้อมกับทิ้งแขนลง จะเห็นความนูนของหลังฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน
2. ปวดเรื้อรังบริเวณคอ หลัง เอว เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งไม่สมดุลกัน
3. มีอาการเหนื่อยง่าย เนื่องจากกระดูกซี่โครงผิดรูปจากกระดูกสันหลังคด ทำให้การขยายตัวของปอดไม่ดีเท่าปกติ

สาเหตุ

1. กระดูกสันหลังผิดรูปตั้งแต่แรกเกิด (Congenital scoliosis) ผลมาจากตัวอ่อนในครรภ์มีการเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติโดยจะพบว่ามีกระดูกสันหลังงอกเพิ่มเติมหรือหายไปบางส่วน ทำให้กระดูกสันหลังเกิดความโค้งที่ผิดปกติหรือเกิดการผิดรูปได้
2. โรคทางระบบประสาทหรือระบบกล้ามเนื้อผิดปกติ (Neuromuscular scoliosis) โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะมีผลทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคด เช่น โรคกล้ามเนื้อโตมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อลีบ เป็นต้น โรคกระดูกสันหลังคดชนิดนี้มักจะมีการดำเนินโรคเร็วกว่าโรคกระดูกสันหลังคดที่ไม่ทราบสาเหตุและมักจะต้องได้รับการ รักษาด้วยการผ่าตัด
3. กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic scoliosis) มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศหญิงและยังมีแนวโน้มในระดับความรุนแรงของโรคมากขึ้น มักเป็นผลจากความไม่สมมาตรของความยาวขา ถ้ามีขาข้างใดข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกข้างหนึ่ง จะทำให้ระดับของสะโพกทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กระดูกสันหลังเกิดคดไปข้างใดข้างหนึ่ง
4. ลักษณะการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน (Working style or Daily life) มักเกิดจากการใช้งานข้างใดข้างมากเกินไป การนั่งไขว้ห้าง นั่งหรือยืนลงน้ำหนัก 2 ข้างไม่เท่ากัน ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งไม่สมดุลกัน เกิดกระดูกสันหลังคดได้เช่นกัน

วิธีการดูแลและการรักษาของ S-Fit Rehab

เนื่องจากกระดูกสันหลังคดเกิดจากกล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งทำงานไม่สมดุลกัน ดังนั้นการรักษาต้องฝึกกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานสมดุลกัน โดยเป็นการฝึกแบบ Rehab Exercise ในระยะแรกกล้ามเนื้อข้างใดที่ทำงานมากเกินไปและมีการตึงตัวจะเน้นออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ส่วนข้างที่อ่อนแรงหรือทำงานได้ไม่ดีจะเน้นออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในข้างนั้น เมื่อการทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างเริ่มทำงานสมดุลกันในระยะต่อมาจะเริ่มฝึกความแข็งแรงและยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้มีการเรียนรู้การทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งแบบสมมาตรกัน และลดการปวดเมื่อยในระยะยาว โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด